ป้องกันไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้า

 ในโลกเรานี้มีโรคเจ็บไข้ได้ป่วยต่าง ๆ นานาร้อยแปดพันเก้านับไม่ถ้วน 
โรคซึมเศร้าก็เป็นโรคหนึ่งที่เป็นกันมาก 
ถ้าสังเกตรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนเดิม  ไม่มีความสุข  ซึมเศร้า  จิตใจหม่นหมองหดหู่  ไม่มีความสดชื่นเบิกบาน  หมดความกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งที่เคยชอบ  อยากอยู่เฉย ๆ เงียบ ๆ คนเดียว  ไม่อยากวิสาสะกับใคร  เบื่อหน่ายท้อแท้  บางครั้งก็รู้สึกสิ้นหวัง  ชีวิตไม่มีคุณค่า  เห็นตนเป็นภาระของผู้อื่น 
ความรู้สึกเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว  หรือตลอดเวลา  ถ้ารุนแรงมากก็อาจถึงกับเบื่อชีวิตคิดอยากตาย  หรือคิดจะฆ่าตัวตายเกิดขึ้น 
ถ้าตัวเราเองมีความรู้สึกเหล่านี้  แสดงว่าเราถูกโรคซึมเศร้าคุกคามเข้าแล้ว  


       แต่โรคซึมเศร้านี้ใช่ว่าจะเป็นกันทุกคน  แม้ว่าเราจะเคยว้าเหว่  เคยโศกเศร้าเสียใจ เคยวิตกกังวล  ไม่สบายใจเพราะสาเหตุต่าง ๆ ชั่วคราวในเวลาสั้น ๆ  แล้วก็หายไป  เรายังมีความมั่นใจในการต่อสู้กับชีวิตหรือปัญหาอื่น ๆ ได้ต่อไป  เช่นนี้ก็ไม่ใช่โรคซึมเศร้า

 โรคซึมเศร้าพบได้ทุกวัย  ไม่เลือกเพศ  ไม่เลือกชาติศาสนา  อายุที่เป็นบ่อยจะเป็นในช่วงอายุ 20-40 ปีขึ้นไป  ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย  โดยเฉพาะผู้สูงอายุทุกเพศ

 อาการของโรคซึมเศร้าแสดงออกหลายด้าน

 ด้านอารมณ์-----เศร้า  ท้อแท้  หดหู่  ไม่มีความสุข ไม่สดชื่นเบิกบาน  บางคนหงุดหงิดง่าย  โกรธง่ายด้วย 
 
ด้านความคิด-----สมาธิไม่ดี  ขาดความมั่นใจ  ไม่กล้าตัดสินใจเอง  มองโลกแง่ร้าย  เห็นตนเองไร้ค่า  สร้างภาระให้คนอื่น  รู้สึกหมดหวัง  บางคนเบื่อชีวิต  เบื่อที่จะสู้ชีวิตต่อไป  คิดอยากตาย  อยากฆ่าตัวตายก็มี  

ด้านร่างกาย-----เบื่ออาหาร  หรือกินจุ  น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว   นอนไม่หลับ  หลับ ๆ ตื่น ๆ   หลับไม่สนิท  ฝันร้าย  บ้างก็หลับมาก   ปวดตามร่างกายที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง   ความต้องการทางเพศลดลง  บางรายเพิ่มขึ้นแต่ไม่ค่อยพบ  อ่อนเพลีย  ล้า  ไม่มีแรง  

ด้านพฤติกรรม-----แยกตัวเองออกไปอยู่เงียบ ๆ  กระสับกระส่าย  ควบคุมตนเองได้ น้อยลง  เริ่มดื่มสุรา  สูบบุหรี่  ใช้ยานอนหลับหรือแก้ปวด  ทำให้ลูกหลานหรือคนใกล้ชิดเข้าใจผิดว่าเพื่อเรียกร้องความสนใจที่แท้เป็นอาการป่วย

 สาเหตุของภาวะซีมเศร้า  ทางร่างกาย  โรคทางกายหลายโรคจะมีอาการซึมเศร้าเกิดร่วมด้วย  เช่นโรคของต่อมไทรอยด์  โรคมะเร็งที่ตับอ่อน  โรคสมองเสื่อม โรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน  โรคพาร์กินสันเป็นต้น  ยาหรือสารบางอย่างจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ เช่นกลุ่มยารักษาความดันโลหิตสูง  กลุ่มรักษาโรคมะเร็ง  กลุ่มรักษากระเพาะอาหาร  กลุ่มยาขับปัสสาวะ  กลุ่มยานอนหลับ  กลุ่มยาแก้ปวด  ส่วนสาเหตุทางจิตใจ  การขาดหรือน้อยลงของสารสื่อประสาทบางชนิดในสมอง  การสูญเสียสิ่งที่รัก  ทำให้เกิดความเครียดทางอารมณ์  ปรับตัวไม่ได้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น  ก่อให้เกิดความเศร้า  ท้อแท้  หมดหวัง ไม่อยากต่อสู้  ขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตต่อไป  จึงทำให้เสียการทำหน้าที่ด้านอื่น ๆ ไปด้วย  และไม่สามารถจะดำเนินชีวิตตามปกติได้

มีจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เสนอวิธีแก้หรือลดโรคซึมเศร้าไว้หลายข้อดังต่อไปนี้

 1.อย่าตั้งเป้าหมายการทำงานและปฏิบัติตัวที่ยากหรือรับผิดชอบที่มากเกินไป

 2.แยกแยะปัญหาใหญ่ให้เป็นส่วนย่อย  พร้อมทั้งจัดเรียงความสำคัญก่อนหลัง  และทำเท่าที่สามารถทำได้  อย่าฝืน

 3.อย่าพยายามบังคับตนเอง  หรือตั้งเป้าตนเองสูงเกินไป  เพราะอาจจะไปเพิ่มความรู้สึกล้มเหลวในภายหลัง

 4.พยายามทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น  ดีกว่าอยู่ตามลำพัง

 5.เลือกทำกิจกรรมที่สร้างความรู้สึกดีขึ้น  หรือที่เพลิดเพลินไม่หนักเกินไป  เช่นการออกกำลังเบา ๆ  ชมภาพยนตร์  ฟังเพลงเป็นต้น

6.อย่าตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมาก ๆ   เช่นลาออกจากงาน  แต่งงาน  หย่าร้าง  โดยไม่ได้ปรึกษาใครเลยที่สามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นได้  ถ้าเป็นไปได้และดีที่สุด คือเลื่อนการตัดสินใจออกไปจนกว่าอาการป่วยจะหายหรือดีขึ้นมากแล้ว

7.อย่าตำหนิหรือโทษตัวเองที่ไม่สามารถทำตามที่คิดได้  ควรทำเท่าที่สามารถทำได้ก็พอแล้ว

8.อย่ายอมรับว่าความคิดแง่ร้ายที่เกิดขึ้นเวลาป่วยว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตน  ซึ่งที่จริงแล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของอาการป่วย  สามารถจะหายได้เมื่อรักษา

9.ขณะที่ป่วยอยู่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้ใกล้ชิด  อย่าให้เข้าใจว่าเป็นการแสร้งทำเพื่อขอความเห็นใจ  จะกลายเป็นการซ้ำเติมโดยไม่ตั้งใจ  จึงควรระวังให้มาก

ถ้าสามารถทำตามข้อเสนอแนะนี้ได้  ก็สามารถจะป้องกันหรือลดอาการโรคซึมเศร้าให้เบาบางลงได้  และจะค่อย ๆ หายไป

แต่มีข้อเสนอจากจิตแพทย์เช่นกันว่า  ภาวะซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากคิดขึ้นมาเอง  ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอ  หรือเกิดจากจุดอ่อนที่เป็นคนไม่อดทนไม่ต่อสู้  หรือไม่ได้เกิดจากความเซ็ง  และไม่ใช่ว่าจะเกิดได้ง่ายนัก  มันเป็นภาวะการป่วยจริง ๆ ทางจิตใจ  ถ้ามีอาการเกิดขึ้น  ควรรีบไปพบจิตแพทย์  ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้  โปรดระลึกไว้เสมอว่า  ไม่มีคำว่าสายในการเอาชนะภาวะหรือโรคซึมเศร้า  ถ้าได้รับการรักษาถูกวิธี  เพื่อที่จะได้กลับมามีความปกติสุขเหมือนเดิม! 

 ป้องกันไว้ก่อนแก้  จะดีกว่าอื่น!                                        

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ล้มทุกทฤษฏี คนแก่ 70 ก็มีลูกได้!

The Hulk ตัวจริงแห่งปากีสถาน

มนุษย์ไร้หน้า