นาฬิกาชีวิต รู้เพื่อชะลอความตาย!

 ในโลกเรานี้  เข้าใจว่า  อาจจะมีคนไม่มากนักที่รู้จักว่า “นาฬิกาชีวิต” คืออะไร?

 นาฬิกาชีวิตก็มี 24  ชั่วโมงเหมือนที่คนเราใช้กันอยู่  เพียงแต่ว่า 24 ชั่วโมงของนาฬิกาชีวิต ผู้ใช้เป็นอวัยวะสำคัญภายในร่างกายเราที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่  จึงได้มีชื่อว่า “นาฬิกาชีวิต”

 มนุษย์เราเป็นเครื่องจักรมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างขึ้น  มันประกอบด้วยสายพานและฟันเฟืองต่าง ๆ ที่เป็นอวัยวะซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันแต่หัวจรดเท้าตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงมิได้ว่างเว้นตั้งแต่เกิดไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต

 อวัยวะสำคัญที่เกี่ยวโยงซึ่งกันและใช้นาฬิกาชีวิตนี้  มี 12 อวัยวะด้วยกัน  ใช้เวลาวันละ2 ชั่วโมงต่ออวัยวะหนึ่ง ๆ  เพื่อผลักดันให้ชีวิตของคนเราดำเนินไปเส้นทางของมันเหมือน ๆ กันทุกคน  ไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาว  จะมียศถาบรรดาศักดิ์ใหญ่โตสูงส่งหรือต่ำต้อยน้อยนิดอย่างไรก็ตาม



12 อวัยวะที่ใช้นาฬิกาชีวิตนี้
ทำงานและให้ชีวิตคนเราดำรงคงอยู่อย่างเสมอภาคดังต่อไปนี้


1.ตับ  ใช้เวลาทำงานตามหน้าที่ตั้งแต่ 01.00 –03.00 น.

        ในเวลานี้คนเราควรหลับนอนพักผ่อนให้สบาย  ถ้านอนหลับสนิทได้ดีในเวลานี้เป็นอาจิณ  ตับจะหลั่งสารเมลาโทนินออกมา  เพื่อต่อต้านอนุมูลอิสระ  ทำให้ใบหน้าดูอ่อนกว่าวัย

        นอกจากนั้น  ยังหลั่งสารเอนโดรฟิน  ซึ่งช่วยลดความเจ็บปวดหรือปวดเมื่อย  เพิ่มภูมิต้านทานโรค  ลดความเครียดออกมาด้วย

        ฉะนั้น  จึงไม่ควรกินอาหารในเวลานี้  เพราะจะทำให้ตับต้องทำงานหนักและเสื่อมเร็ว
   
        หน้าที่หลักของตับคือขจัดสารพิษในร่างกาย  แต่หน้าที่ของตับมิใช่มีอย่างเดียว  ยังมีหน้าที่รองอื่น ๆอีก  คือช่วยไตดูแลผม  ขน  เล็บ ถ้าตับเรามีปัญหา  ผม  ขน  เล็บก็จะมีปัญหาตามมาด้วย  คือจะผิดปกติไปบ้างไม่มากก็น้อย

        นอกจากนี้  ยังช่วยกระเพาะย่อยอาหารอีก  ถ้ากินไม่เป็นเวลาหรือกินจุบกินจิบ  จะทำให้ตับต้องทำงานหนัก  จะหลั่งน้ำย่อยออกมามาก  จึงไม่สามารถทำหน้าที่หลักของตนอย่างเต็มที่
        เป็นเหตุให้สารพิษที่ควรจะถูกขจัดออกไปตกค้างอยู่ในตับ  ซึ่งเป็นอันตรายต่อตับอันควรจะหลีกเลี่ยงเสีย


 2.ปอด  ใช้เวลาทำงานตามหน้าที่ตั้งแต่ 03.00—05.00 น.

        เพื่อความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า  ถ้าคนเราตื่นนอนได้ในเวลาดังกล่าว  ก็จะได้สูดอากาศบริสุทธิ์ปราศจากมลพิษ  และรับแสงแดดยามเช้าซึ่งมีวิตามินดีอันเป็นวิตามินที่ร่างกายคนเราจะขาดเสียมิได้

        ก็เป็นวิตามินดีนี่แหละที่ช่วยดูดซึมแคลเซี่ยม  ป้องกันโรคกระดูกพรุน ทำให้ฟันแข็งแรง  ทั้งยังช่วยการย่อยอาหารอีก

        ผู้ที่ตื่นนอนในช่วงเวลานี้เป็นประจำ  ปอดจะแข็งแรง  ผิวจะดีขึ้น  ภูมิต้านทานก็จะเพิ่มขึ้น  อีกทั้งยังจะทำให้อายุยืนอันเนื่องมาจากได้รับวิตามินดีอย่างพอเพียง  ทำให้มีภูมิต้านทานการต่อต้านโรคภัยต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย


3.ลำไส้ใหญ่  ใช้เวลาทำงานตามหน้าที่ตั้งแต่ 05.00—07.00 น.

        เป็นเวลาการขับถ่ายอุจจาระ  ควรขับถ่ายให้เป็นนิสัยทุกเช้า  จะทำให้ท้องสบายและร่างกายส่วนอื่น ๆ ก็สบายตามไปด้วย

        การขับถ่ายอุจจาระมีสิ่งผิดปกติอย่างหนึ่งคือท้องผูกถ่ายไม่ออก  ถ้าเป็นดังนั้นก็ให้ลองใช้วิธีกดจุดที่สองข้างของจมูกหรือที่ท้องในจุดที่ห่างจากสะดือราว 2 นิ้วสองข้าง

        ถ้ายังไม่ถ่ายให้ดื่มน้ำอุ่น 2 แก้ว  หรือดื่มน้ำผึ้งผลมมะนาวใช้น้ำ 1 แก้วน้ำผึ้ง 1 ชอนโต๊ะน้ำมะนาว 4-5 ลูก

        ผู้สูงอายุมักจะถ่ายยาก  บางคนไม่ถ่ายทุกวัน  2 วันถ่ายครั้งหนึ่งก็มี  บางคนก็ต้องใช้ยาถ่ายไปช่วย

        ถ้าใครไม่ถ่ายหลายวันผิดปกติ  ก็ต้องไปให้หมอตรวจแล้ว  มันแสดงว่าลำไส้ใหญ่มีอาการของโรคไม่อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว  ยิ่งเร็วยิ่งดี  ควรสนใจให้มากอย่าปล่อยปละละเลยเป็นอันขาด


4.กระเพาะอาหาร  ใช้เวลาทำงานตามหน้าที่ตั้งแต่ 07.00—09.00 น.

        กระเพาะอาหารจะเริ่มทำงาน  ถ้ากินอาหารเช้าในช่วงเวลานี้ทุกวัน  กระเพาะอาหารจะแข็งแรง  และควรกิน 1ใน 4 ของปริมาณการกินของหนึ่งวัน

        ถ้าปล่อยให้กระเพาะอาหารอ่อนแอ  ไม่กินอาหารหรือกินอาหารไม่พอ  จะส่งผลให้เป็นคนตัดสินใจช้า  ขี้กังวล  ขาไม่ค่อยมีแรง  ปวดเข่า และหน้าจะแก่เร็วกว่าวัย

        ส่วนมื้ออื่นๆ  ก็ควรจะกินให้เป็นเวลา  และควรจะให้มีกากใยเช่นผักหรือผลไม้  ซึ่งจะมีส่วนช่วยการขับถ่ายอุจจาระของลำไส้ใหญ่ด้วย


5.ม้าม  ใช้เวลาทำงานตามหน้าที่ตั้งแต่ 09.00—11.00 น.

        ม้ามจะอยู่ทางชายโครงด้านซ้ายของร่างกาย  มีหน้าที่ควบคุมเม็ดเลือด  สร้างน้ำเหลือง  ควบคุมไขมัน  กำจัดของเสียออกจากกระแสเลือดในรูปของปัสสาวะ

        คนที่ปวดศีรษะบ่อยมักจะมาจากความผิดปกติของม้าม  อาการเจ็บแถบชายโครงก็มีสาเหตุมาจากม้ามและตับมีอาการผิดปกติ

        ถ้าม้ามโตจะไปเบียดปอดให้หดลง  ทำให้เหนื่อยง่าย  ตาเหลือง  สร้างเม็ดเลือดขาวไว้เป็นภูมิต้านทานโรคได้น้อย

        ถ้าม้ามมีอาการชื้น  จะทำให้อาหารและน้ำที่กินดื่มเข้าไป  แปรสภาพเป็นไขมัน  ร่างกายจะอ้วนง่ายและเร็ว

        การนอนหลับในช่วงเวลานี้ไม่ดี  จะทำให้ม้ามอ่อนแอ  นอกจากนี้ยังโยงไปถึงปาก

        คนที่ชอบพูดมากหรือพูดเก่งเป็นต่อยหอย  ม้ามจะชื้น  เพราะฉะนั้น  เพื่อความเป็นปกติของม้าม  จึงควรกินน้อยพูดแต่พอสมควรเท่าที่จำเป็น  ม้ามจึงจะแข็งแรงทำหน้าที่ของตนได้ดี


6.หัวใจ  ใช้เวลาทำงานตามหน้าที่ตั้งแต่ 11.00-13.00 น.

        หัวใจทำงานหนักในช่วงเวลานี้  เพราะการไหลเวียนของเลือดที่มาฟอกเลือดดำเป็นเลือดแดงและสูบฉีดไปเลี้ยงทั่วร่างกายซึ่งจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว

        จึงควรหลีกเลี่ยงความเครียด  การใช้ความคิดหนัก และพยายามหาทางระงับอารมณ์ตื่นเต้นหรืออาการตกใจให้ได้


7.ลำไส้เล็ก  ใช้เวลาทำงานตามหน้าที่ตั้งแต่  13.00—15.00 น.

        มีหน้าที่ย่อยอาหารจนถึงที่สุด  จึงควรงดกินอาหารทุกประเภทเพื่อให้ลำไส้เล็กได้ทำงานของตน

         ลำไส้เล็กมีหน้าที่ดูดซึมสารอาหารที่ย่อยแล้วไปใช้ให้เกิดประโยชน์  โดยเฉพาะที่เป็นน้ำทุกชนิด  เป็นต้นว่าวิตามินซี  โปรตีน  วิตามินบีเพื่อสร้างกรดอะมิโน  สร้างเซลล์สมอง  ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ  สร้างไข่สำหรับผู้หญิง


8.กระเพาะปัสสาวะ  ใช้เวลาทำงานตามหน้าที่ตั้งแต่  15.00—17.00 น.

        ตั้งอยู่ในช่องท้องน้อย  มีผนังยืดหดได้ดี  เป็นที่พักน้ำปัสสาวะ  อาจบรรจุน้ำปัสสาวะได้ถึง 1 ลิตร

        แต่โดยทั่วไปแล้วเมื่อมีน้ำปัสสาวะประมาณ 150—200 มิลลิลิตร  จะรู้สึกปวดปัสสาวะ

        กระเพาะปัสสาวะจะเกี่ยวข้องกับระบบความจำ  ต่อมไทรอยด์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กล่องสียงผลิตฮอร์โมนสำคัญและระบบเพศทั้งหมด

        ช่วงเวลานี้ควรทำให้เหงื่อออก  ด้วยการออกกำลังกาย  อันจะทำให้กระเพาะปัสสาวะแข็งแรง  การอั้นปัสสาวะบ่อย ๆ   ปัสสาวะจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด  จะทำให้เหงื่อมีกลิ่นเหมือนปัสสาวะ


9.ไต  ใช้เวลาทำงานตามหน้าที่ตั้งแต่ 17.00—19.00 น.

        หน้าที่ของไตที่สำคัญคือ  ขับถ่ายของเสียออกทางปัสสาวะ  ดูดซึมและเก็บสะสมสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย  รักษาดุลน้ำและเกลือ  รักษาดุลของกรดและสารละลายบางอย่าง  ควบคุมความดันเลือดในยามที่ร่างกายขาดเกลือ

        ควรทำใจให้สดชื่น ไม่ง่วงเหงาหาวนอน  ผู้ใดมีอาการง่วงนอนในช่วงนี้  แสดงว่ามีปัญหาเรื่องไตเสื่อม

        ถ้านอนหลับแล้วเพ้อ  แสดงว่าอาการหนักมาก  ถ้าลำไส้เล็กมีไขมันเกาะมาก  อาหารในรูปสารละลายผ่านไปไม่ได้  ไตต้องรับภาระทำงานหนัก  จะกลายเป็นโรคไต  สมองจะเสื่อม ปวดหลัง  เป็นหวัดง่าย  มีเสลดในคอ

        ผู้ที่มีอาการเช่นนี้  ตอนเช้าควรอาบน้ำเย็น  ตอนเย็นควรอาบน้ำอุ่น  จะช่วยบรรเทาได้มาก


10.เยื่อหุ้มหัวใจ  ใช้เวลาทำงานตามหน้าที่ตั้งแต่ 19.00—21.00 น.

        ในเวลานี้ควรทำจิตใจให้สงบ  สวดมนต์หรือทำสมาธิ  เยื่อหุ้มหัวใจอาจจะมีปัญหาเรื่องหัวใจโต  หัวใจรั่ว  เส้นเลือดหัวใจตีบ  จึงควรระวังเรื่องตื่นเต้น  ดีใจมาก  หัวเราะมาก

        แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นกันทุกคน  ระวังไว้หน่อย  ป้องกันไว้ก่อนจะดีกว่า


11.ความร้อนของร่างกาย  ใช้เวลาทำงานตามหน้าที่ตั้งแต่  21.00—23.00 น.

        ช่วงเวลานี้ไม่ควรอาบน้ำเย็น  และไม่ควรตากลม  โดยเฉพาะหน้าหนาวต้องสนใจเรื่องนี้ให้มาก
        ถ้าร่างกายขาดวามอบอุ่นแล้ว  โรคภัยต่าง ๆ ก็จะรุมกันเบียดเบียน  อาจจะคุกคามถึงชีวิตได้


12.ถุงน้ำดี  ใช้เวลาทำงานตามหน้าที่ตั้งแต่ 23.00—01.00 น.

        ถุงน้ำดีเป็นถุงสำรองเก็บน้ำย่อยที่ออกมาจากตับ

        เมื่อส่วนใดของร่างกายขาดน้ำ  ก็จะมาเอาไปจากถุงน้ำดี  ทำให้ถุงน้ำดีข้น  เป็นผลให้มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย สายตาเสื่อม  เหงือกบวม ปวดฟัน  นอนไม่หลับ  ตื่นกลางดึก  หรือจะจามในตอนเช้าบ่อย ๆ   จะปวดศีรษะข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้

        ผู้ที่ตัดถุงน้ำดีออก  มักมีอาการปวดขา ปวดสะโพก



                การใช้นาฬิกาชีวิต ของอวัยวะสำคัญ 12  อย่างในร่างกายคนเรา  โดยรวบรัดแล้วก็มีดังข้างต้น

        แต่คำว่า “นาฬิกาชีวิต” เพิ่งจะมีการพูดถึงเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง  คนเรามีความเคยชินต่อการใช้ชีวิตของตนซึ่งอาจจะตรงบ้างไม่ตรงบ้างกับ “นาฬิกาชีวิต” มาช้านานแล้ว

        ถ้าไม่มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือผิดปกติ  ก็คงจะไม่มีปัญหา  แต่ท่านผู้รู้ว่า  “การดำเนินชีวิตและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ  จะทำให้มีสุขภาพดี  มีอายุยืน ปราศจากโรค”

        คนเราต่างจิตต่างใจ  ต่างวัยต่างอาชีพต่างความเคยชิน  “นาฬิกาชีวิต”ก็เดินไปตามครรลองของมัน  ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงมันได้  ใครเห็นสมควรทำอย่างไรก็ต้องอาศัยเจ้าตัวเป็นคนตัดสินใจเอาเอง!

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ล้มทุกทฤษฏี คนแก่ 70 ก็มีลูกได้!

The Hulk ตัวจริงแห่งปากีสถาน

มนุษย์ไร้หน้า